มองอาเซียน 360 องศา
(Asean 360 Degree)


aseanmenu2 001aseanmenu2 002aseanmenu2 003aseanmenu2 004aseanmenu2 005aseanmenu2 006aseanmenu2 007aseanmenu2 008aseanmenu2 009aseanmenu2 010aseanmenu2 011

 

 

การเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ตอนที่ 2

รวบรวมโดย   นพพร  วีระกุล

หัวหน้าฝ่ายบรรณสาร  วิทยาลัยการปกครอง

ข้อมูลจาก AEC ศูนย์ข้อมูลความรู้ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

 

ในการเตรียมความพร้อมของประเทศกลุ่มอาเซียนซึ่งได้ดำเนินการมาเป็นลำดับจากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่เริ่มครั้งแรกที่จังหวัดบาหลี   ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์  ค.ศ.1976  หรือ พ.ศ. 2519 จนถึงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งล่าสุด ครั้งที่ 21  ที่กรุงพนมเปญ   ประเทศกัมพูชา  เมื่อวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2555 โดยที่อาเซียนมีแผนการต่างๆ ในหลายด้าน เพื่อทำให้อาเซียนมีความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนใน พ.ศ. 2558   แม้ความหลากหลายของประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นทั้งจุดเด่น เป็นอัตลักษณ์หรือลักษณะเฉพาะของอาเซียน แต่ขณะเดียวกันก็เป็นจุดด้อยที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน   ลักษณะเฉพาะของอาเซียนที่ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ต่างมีลักษณะทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน มีภาษาประจำชาติที่แตกต่างกัน มีประชาชนหลากหลายเชื้อชาติ รวมถึงการปกครองที่แตกต่างกัน ทำให้อาเซียนมีความแตกต่างจากการรวมกลุ่มของประเทศในซีกโลกอื่นๆ เช่น กลุ่มสหภาพยุโรป หรือกลุ่มอเมริกาเหนือที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยเหมือนกัน มีรากภาษาเดียวกันแม้จะใช้ภาษาหลากหลาย มีพื้นฐานเศรษฐกิจคล้ายกัน กล่าวได้ว่าความหลากหลายของอาเซียนทำให้อาเซียนขาดความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการรวมกัน นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนโดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่มีความเสี่ยงต่อการบรรลุเป้าหมาย   ดังนั้น  ในการบูรณาการของประชาคมอาเซียนอาจเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่ส่งผลกระทบต่อความร่วมมือระหว่างประเทศในประเด็นเหล่านี้

ปัจจัยเสี่ยงจากความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งส่งผลให้ประชากรของภูมิภาคนี้มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความเชื่อ วิถีชีวิต ศาสนา ภาษา และขนบธรรมเนียมประเพณี แต่ละประเทศมีประชากรต่างชาติพันธุ์ ต่างภาษา เช่น มีทั้งไทย ญวน ลาว เขมร มอญ มาเลย์ พม่า จีน และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อีกหลายร้อยกลุ่ม นับถือศาสนาต่างกัน กล่าวคือ ประชากรส่วนใหญ่ในไทย กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม สิงคโปร์นับถือพระพุทธศาสนา ประชากรส่วนใหญ่ในมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไนนับถือศาสนาอิสลาม และประชากรส่วนใหญ่ในฟิลิปปินส์ ติมอร์-เลสเตนับถือคริสต์ศาสนา   นอกจากนี้ ภายในแต่ละประเทศก็มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และภาษา เช่น ในพม่ามีชาวพม่าเป็นชนส่วนใหญ่ แต่ก็มีชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่างๆ ถึง 135 ชาติพันธุ์ ในฟิลิปปินส์ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะก็มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และมีการใช้ภาษามากกว่า 170 ภาษา อินโดนีเซียซึ่งเป็นหมู่เกาะเช่นกันก็มีชนพื้นเมืองหลากหลายกลุ่ม และพูดภาษาต่างกันกว่า 583 ภาษา แม้แต่ในสิงคโปร์ที่มีประชากรทั้งประเทศประมาณ 4 ล้านคน ก็มีความหลากหลายมาก คือ มีประชากรเชื้อสายจีน มาเลย์ อินเดีย และอื่นๆ นับถือศาสนาหลากหลายทั้งพระพุทธศาสนา คริสต์ศาสนา ศาสนาอิสลาม ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ศาสนาสิกข์ มีการใช้ภาษามาเลย์ ภาษาจีน ภาษาทมิฬ และภาษาอังกฤษในการติดต่อสื่อสาร   ความหลากหลายทางด้านสังคมและวัฒนธรรมนี้นำมาซึ่งความขัดแย้งในบางประเทศ เช่น พม่ามีการเรียกร้องสิทธิปกครองตนเองของชนกลุ่มน้อยมานานกว่าครึ่งศตวรรษ หรือบางประเทศคนท้องถิ่นเกิดความรู้สึกต่อต้านชาวจีน ไม่พอใจที่ชาวจีนมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจเหนือกว่า และในอดีตก็คือความหวาดระแวงอันเนื่องมาจากปัจจัยทางการเมืองในช่วงสงครามเย็น นอกจากนี้ยังมีสาเหตุจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตด้วย    ปัญหาด้านชาติพันธุ์ในพม่ามีสาเหตุทั้งการแบ่งแยกกันมาตั้งแต่อดีตที่รัฐอิสระของชนเชื้อชาติต่างๆ มีการปกครองตนเอง มีวัฒนธรรมของตนเองมาโดยตลอด และจากสภาพภูมิศาสตร์ของพม่าที่แยกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ออกจากกัน โดยบริเวณเทือกเขา ภูเขา ที่ราบสูงเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ส่วนพื้นที่ภาคกลาง ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพม่า

หลังจากพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2491 ชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มต้องการแยกตัวจากพม่า ทำให้เกิดการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลพม่ากับชนกลุ่มน้อย ปัญหาการแตกแยกในบ้านเมืองทำให้ทหารยึดอำนาจการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2505 เปลี่ยนจากระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบสาธารณรัฐสังคมนิยม ยกเลิกพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา และปราบปรามชนกลุ่มน้อยอย่างรุนแรง ทำให้เกิดองค์กรทางการเมืองติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม จากความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พม่าเปลี่ยนชื่อประเทศจากพม่า (Burma) ซึ่งเป็นชื่อชนชาติที่มีมากที่สุดมาเป็น "เมียนมาร์ (Myanmar)" อันเป็นชื่อประเทศที่ไม่ได้ระบุถึงเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่ง เพื่อหวังบรรเทาความขัดแย้งทางเชื้อชาติ อย่างไรก็ตาม ปัญหาทางเชื้อชาติในพม่ายากที่จะยุติ เพราะรัฐบาลพม่าไม่มีทางยอมให้สิทธิปกครองตนเองแก่ชนกลุ่มน้อย เพราะหากให้สิทธิแก่กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง กลุ่มชาติพันธุ์อื่นก็จะเรียกร้องสิทธิปกครองตนเองด้วย ซึ่งจะกระทบทั้งต่ออำนาจทางการเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของรัฐบาล เพราะเขตเทือกเขาที่ชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่มีทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันรัฐบาลพม่าก็พยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความหลากหลายทางเชื้อชาติที่เกิดขึ้นภายในประเทศอยู่อย่างต่อเนื่อง

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเรื่องของความขัดแย้ง อันเนื่องมาจากความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ดี ความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรมนี้ไม่ได้นำมาซึ่งความขัดแย้งเสมอไป หากมีการจัดการความหลากหลายนี้ได้อย่างเข้าใจกันด้วยการสร้างทัศนคติที่ดี ว่าแม้ประเทศในอาเซียนมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่ประชากรสามารถอยู่ร่วมกันได้หากมีความรู้สึกเคารพ ให้เกียรติ และยอมรับความแตกต่าง สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ก็จะนำมาซึ่งความสงบและสันติภาพภายในภูมิภาค

ปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจของประเทศในอาเซียน

แม้ว่าอาเซียนมุ่งหวังที่จะจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนใน พ.ศ. 2558 ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ คือ การเป็นตลาดและเป็นรากฐานการผลิตร่วมกันโดยมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมือและเงินทุนที่เสรีมากขึ้น มีความสามารถในการแข่งขันสูง มุ่งสร้างความเท่าเทียมในการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศอาเซียน และการส่งเสริมการรวมกลุ่มอาเซียนเข้ากับประชาคมโลก แต่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนก็อาจมีอุปสรรคบางประการ เช่น การแข่งขันกันเองเพื่อแย่งชิงตลาดเพราะมีทรัพยากรเหมือนหรือคล้ายคลึงกัน การรักษาผลประโยชน์ของชาติ ปัจจัยจากระบอบการปกครองของแต่ละประเทศที่มีความสัมพันธ์กับนโยบายเศรษฐกิจ การแข่งขันจากประเทศหรือกลุ่มประเทศอื่น เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เป็นต้น

อาเซียนประกอบด้วย 10 ประเทศที่มีทั้งความเหมือนและแตกต่างกันในด้านลักษณะทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ พื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนขึ้นอยู่กับภาคเกษตรกรรม ทั้งการทำเกษตรกรรมโดยตรงและการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม แต่บางประเทศในกลุ่มนี้ภาคอุตสาหกรรมก็มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศด้วย เช่น ไทย ฟิลิปปินส์ เป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของต่างชาติ เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โรงงานประกอบรถยนต์ เครื่องไฟฟ้า บางประเทศมีทรัพยากรน้ำมันเป็นทรัพยากรสำคัญ ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ในขณะที่สิงคโปร์ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ แต่มีฐานะทางเศรษฐกิจและการเงินที่มั่งคั่งที่สุด เพราะพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการลงทุนในต่างประเทศ พัฒนาตลาดการเงินเพื่อดึงดูดการลงทุนจากภายนอก ทำให้เป็นศูนย์กลางการเงินที่สำคัญของภูมิภาคและเป็นประเทศพัฒนาแล้วประเทศเดียวในภูมิภาค จะเห็นได้ว่าสมาชิกอาเซียนยังมีฐานะทางเศรษฐกิจแตกต่างกันมากซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวมของอาเซียน เพราะต้องคำนึงถึงช่องว่างทางเศรษฐกิจที่ห่างกันมากระหว่างประเทศพัฒนาแล้วอย่างสิงคโปร์กับประเทศกำลังพัฒนาอย่างพม่า ลาว กัมพูชา

นอกจากนี้ ลักษณะการปกครอง แนวคิดเศรษฐกิจของผู้บริหารประเทศ ตลอดจนวัฒนธรรมก็มีความสัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจด้วย กล่าวคือ ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมีระบอบเศรษฐกิจที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและแข่งขันกันอย่างเสรี โดยมีราคาและระบบตลาดเป็นกลไกสำคัญในการจัดสรรทรัพยากร ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และกัมพูชา ส่วนประเทศในระบอบสังคมนิยมอย่างลาวและเวียดนาม รัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจและดำเนินการทางเศรษฐกิจ และจำกัดเสรีภาพบางอย่างของเอกชน

สำหรับบรูไนซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทำให้อำนาจรวมอยู่ที่ศูนย์กลาง รัฐเป็นผู้วางแนวทางด้านเศรษฐกิจผูกขาดกิจการสำคัญ คือ ธุรกิจน้ำมัน แต่ก็มีการลงทุนของเอกชนทั้งในประเทศและนอกประเทศ ส่วนพม่ามีระบบเศรษฐกิจรวมศูนย์ แต่ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 พม่าพยายามส่งเสริมประชาธิปไตยมากขึ้นด้วยการจัดการเลือกตั้ง ปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี เปิดความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา แม้อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจจะยังอยู่ภายใต้ผู้นำทหาร แต่พม่าก็เริ่มเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจด้วยการเปิดกว้างให้แก่เอกชนและเปิดรับการลงทุนจากภายนอกมากขึ้น ซึ่งได้รับความสนใจจากทั้งประเทศในอาเซียนและสหรัฐอเมริกา
การที่ประเทศในอาเซียนมีทรัพยากรธรรมชาติคล้ายคลึงกันและเป็นรากฐานการผลิตของโรงงานต่างชาติ ทำให้ประเทศในอาเซียนมักผลิตสินค้าประเภทเดียวกัน แต่ละประเทศจึงกลายมาเป็นคู่แข่งกันเองในสินค้าหลายรายการ ทำให้มีการแย่งชิงตลาดส่งออก ซึ่งส่งผลเสียทำให้มีการตัดราคาสินค้าหรือสินค้าถูกกดราคา เพราะผู้ซื้อมีทางเลือกมากขึ้น ดังนั้น ในการพัฒนาเศรษฐกิจและการสร้างความเป็นปึกแผ่นของอาเซียน จึงต้องคำนึงถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศด้วย เพราะหากประเทศสมาชิกแข่งขันกันเองก็จะส่งผลต่อการเติบโตของอาเซียนในภาพรวม

อาเซียนจึงต้องหาทางแก้ปัญหาเรื่องการแย่งชิงตลาดกันเองของประเทศสมาชิกและการผลิตสินค้าที่ซ้ำซ้อนกัน เช่น การจัดระบบการผลิตให้แต่ละประเทศเป็นฐานการผลิตสินค้าเฉพาะอย่าง เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค้าที่สุด ไม่ซ้ำซ้อนกัน ไม่ตัดราคากันเอง นอกจากนี้อาเซียนต้องทำให้ความหลากหลายของอาเซียนกลายเป็นจุดแข็ง เช่น การมีสินค้าท้องถิ่นของประชากรชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งแตกต่างจากสินค้าจากที่อื่นๆ ของโลก ที่เห็นได้ชัดเจนและนำมาต่อยอดเป็นสินค้าส่งออกได้ เช่น สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์หรือโอทอป (OTOP) ของไทย เป็นต้น สินค้าท้องถิ่นของอาเซียนนี้จะสะท้อนถึงอัตลักษณ์อาเซียนและเป็นสินค้าที่มีเฉพาะในภูมิภาค ซึ่งน่าจะทำตลาดได้ดี โดยเฉพาะตลาดของประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่ชื่นชอบสินค้าพื้นเมืองที่มีเอกลักษณ์

นอกจากนี้อาเซียนต้องดำเนินการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งระบบของอาเซียน และเพื่อทำให้การรวมตัวทางเศรษฐกิจประสบความสำเร็จเร็วขึ้น โดยต้องพัฒนาความสามารถด้านการผลิตและเทคโนโลยีในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เพื่อช่วยให้ประเทศเหล่านี้ก้าวทันสมาชิกอื่นได้ทัน รวมทั้งต้องพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน กฎหมายเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร และทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมให้แก่ภาคธุรกิจเอกชนทั้งรายใหญ่และรายย่อย เพื่อรองรับการลงทุนจากนักลงทุนทั้งในภูมิภาคและนอกภูมิภาคประเทศหนึ่งที่สามารถพัฒนาตนเองได้ดีทั้งในด้านทรัพยากรบุคคล ระบบสาธารณูปโภค ข้อมูลข่าวสาร ก็คือ เวียดนาม ซึ่งทำให้นานาประเทศต่างให้ความสนใจเข้าไปลงทุน